Tuesday, December 19, 2006

สัตว์น้ำคุ้มครอง3



หอยมือเสือ (Giant clams)
เป็นหอยในกลุ่มหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแหล่งอาศัยดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการัง พบแพร่กระจายอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนแถบอินโดแปซิฟิกเท่านั้น เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เนื้อของหอยมือเสือโดยเฉพาะกล้ามเนื้อยึดเปลือก (adductor muscle) เป็นอาหารซึ่งมีราคาแพง เป็นที่นิยมบริโภคในหลายประเทศ เปลือกใช้ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ ส่วนหอยมือเสือขนาดเล็กนิยมนำมาเลี้ยงประดับในตู้ปลาทะเลสวยงาม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากจนเกินกำลังธรรมชาติจะทดแทนได้ทันในทุกแหล่งการแพร่กระจายจนกระทั่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดถูกทำลายจนหมดไปจากบางแหล่ง จึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์น้ำที่ได้รับการขึ้นบัญชีในรายชื่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) และจัดอยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของไทย ในทะเลไทยพบหอยมือเสืออยู่ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จำนวนประชากรหอยมือเสือในน่านน้ำไทยในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากหอยมือเสือมีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่มีระดับน้ำไม่ลึกเพราะต้องอาศัยแสงสว่างในการดำรงชีพเพื่อให้สาหร่ายซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของมันสามารถสังเคราะห์แสงได้ จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาได้ง่าย แม้ว่าการบริโภคเนื้อหอยมือเสือในประเทศไทยจะไม่แพร่หลาย เพราะมีจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามเกาะหรือชายฝั่งทะเลเท่านั้นที่รู้จักและมีโอกาสบริโภคเนื้อหอยมือเสือเป็นอาหาร แต่ก็มีการเก็บเปลือกหอยมาจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือผลิตภัณฑ์สิ่งประดับตกแต่งต่างๆ จำนวนมาก ประกอบกับปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม เป็นเหตุให้ทรัพยากรหอยมือเสือถูกทำลายลงไปจนแทบจะสูญพันธุ์ในหลายๆ แหล่ง จึงจำเป็นต้องเร่งทำการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการอนุรักษ์หรือแนวทางที่จะสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไปชีววิทยาทั่วไป

No comments: